การพิจารณาว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างหรือไม่ต้องดูองค์ประกอบใดบ้าง?

 
              การจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5 และ ป.พ.พ. มาตรา 575 แล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 อีกด้วย คดีนี้นอกจากศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับผู้รับจ้างขนส่งเข้าทำงานทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บ. หรือตามที่โจทก์กำหนดให้ขนส่งไปยังผู้รับหรือสถานที่อื่นใดตามที่โจทก์จะแจ้งให้ผู้รับจ้างขนส่งทราบเป็นคราวๆ ไป การจ่ายค่าตอบแทนทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายเที่ยวตามสัญญาขนส่งน้ำมัน การเข้าปฏิบัติงานหากผู้รับจ้างขนส่งไม่สามารถมาทำงานได้ให้แจ้งฝ่ายโจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้จัดหาบุคคลอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนแล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางอีกว่า เมื่อมีบุคคลมาสมัครเพื่อเป็นผู้รับจ้างขนส่ง โจทก์จะให้บุคคลดังกล่าวเขียนใบสมัคร และโจทก์จะตรวจสอบประสบการณ์คุณสมบัติของผู้สมัคร แล้วจะให้ส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. ทดสอบการขับรถเพื่อออกใบอนุญาตให้ จากนั้นจึงจะทำสัญญาขนส่งน้ำมัน การทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติตามระเรียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันเวลาปฏิบัติงานในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา เมื่อผู้รับจ้างขนส่งมาที่ส่วนคลังและขนส่งบริษัท บ. แล้ว จะจับสลากเพื่อรับงานตามใบสั่งงานที่บริษัท บ. ออกให้แก่โจทก์ โดยผู้รับจ้างขนส่งจะได้รับค่าขนส่งต่อเที่ยวไม่เท่ากัน แต่จะได้รับไม่ต่ำกว่าเที่ยวละ 250 บาท โจทก์ได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาเพื่อใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่ง และเคยจัดทำประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องเริ่มจากการเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับโจทก์ก่อน แล้วจึงจะทดสอบการขับรถ จากนั้นจึงทำสัญญาขนส่งน้ำมันซึ่งตามสัญญาขนส่งน้ำมันแม้จะเรียกคู่สัญญาว่า “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” แต่ตามสัญญาข้อ 1.2 ระบุว่า “ผู้รับจ้างยินยอมจะปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้” และตามข้อ 3.4 ก็ระบุไว้ทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้แล้ว และที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมหลังจากการทำสัญญา และเมื่อโจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งปฏิบัติตามระเบียบการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ทั้งยังคัดลอกข้อความบางส่วนมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำระเบียบปฏิบัติของส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. มาใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่งในลักษณะเดียวกันเป็นระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน นอกจากจะระบุถึงระเบียบปฏิบัติภายในพื้นที่ศูนย์จ่ายน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันโดยทั่วไปแล้ว ยังระบุถึงความประพฤติส่วนตัวที่ต้องห้ามแสดงกิริยา มารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้ายหรือพยายามทำร้ายผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุบทลงโทษไว้ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด และยังปรากฏว่าโจทก์เคยมีประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ซึ่งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บริการจัดส่ง ตั้งแต่งดจ่ายงาน 3 วัน จนถึงเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้น การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ยังคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป ส่วนที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งหากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานวันใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบ ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมัน ข้อ 5.3 วรรคสอง ซึ่งระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องประกันผลงานจำนวนเที่ยววิ่งขนส่งน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว หากผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจำนวนเที่ยวที่ระบุไว้โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา อีกทั้งโจทก์ยังได้จัดทำสมุดแจ้งการหยุดงานเพื่อบันทึกการลาหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่ง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของชื่อผู้หยุดงาน วันที่หยุด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5
 
             ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2545 และคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545
 
          จำเลยทั้งเก้าให้การว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2545 ที่ออกโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545 เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
 
          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าตามคำวินิจฉัยที่ 3/2545 ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 11/2545 ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545
 
          จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าเพียงประการเดียวว่า ผู้รับจ้างขนส่งในคดีนี้เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ และกรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการบริหารงานขนส่งและขนถ่ายน้ำมัน ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2545 นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนสหภาพแรงงานกรีนไลน์ และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่ผู้รับจ้าง วันที่ 20 กันยายน 2545 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งโจทก์ชี้แจงว่าบุคคลตามรายชื่อที่ขอตรวจสอบไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างโจทก์ วันที่ 27 กันยายน 2545 สหภาพแรงงานกรีนไลน์ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์เพื่อขอแก้ไขสภาพการจ้าง ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยที่ 3/2545 ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัย วันที่ 2 ธันวาคม 2545 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานวินิจฉัยให้ยกคำอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงอีกว่าผู้รับจ้างขนส่งรับจ้างโจทก์ขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้ง หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่งหากไม่มาทำงานในวันใดก็เพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบเท่านั้น ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนแล้ววินิจฉัยว่าสัญญาขนส่งน้ำมันตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ทำขึ้น ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างฝ่ายหนึ่ง กับพนักงานรับจ้างขนส่งซึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อตกลงตามขอบเขตของงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดส่งน้ำมันที่โจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งดำเนินการ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างขนส่งกระทำ ทั้งนี้โจทก์จะชำระค่าสินจ้างตามผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างขนส่งกระทำการสำเร็จเป็นรายเที่ยว ตามที่ได้ปฏิบัติงานจริงอีกทั้งประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่งก็มีลักษณะเป็นแนวทางปฏิบัติงานให้ผู้รับจ้างขนส่งรับทราบในเรื่องความปลอดภัย ความประพฤติ ภาพลักษณ์และการปฏิบัติงานเท่านั้น บทลงโทษที่โจทก์กำหนดยังมิใช่ลักษณะของโทษทางวินัย สำหรับการที่ผู้รับจ้างขนส่งต้องแต่งเครื่องแบบขณะปฏิบัติงานที่โจทก์จัดหาให้ ก็เป็นกรณีที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะมาปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ต้องแต่งกายให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 นิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทน ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน” และนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง” อันมีลักษณะทำนองเดียวกับความหมายของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” กล่าวคือลูกจ้างตกลงทำงานโดยสมัครใจให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างเป็นการแลกเปลี่ยนกับแรงงานของลูกจ้างนั้น แต่การจะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 อีกด้วย คดีนี้นอกจากศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับผู้รับจ้างขนส่งเข้าทำงานหน้าที่ขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันโรงกลั่นน้ำมันบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือตามที่โจทก์กำหนดให้ขนส่งไปยังผู้รับหรือสถานที่อื่นใดตามที่โจทก์จะแจ้งให้ผู้รับจ้างขนส่งทราบเป็นคราวๆ ไป การจ่ายค่าตอบแทนทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายเที่ยวตามสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 การเข้าปฏิบัติงานหากผู้รับจ้างขนส่งไม่สามารถมาทำงานได้ให้แจ้งฝ่ายโจทก์ เพื่อที่โจทก์จะได้จัดหาบุคคลอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนแล้ว ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางอีกว่า เมื่อมีบุคคลมาสมัครเพื่อเป็นผู้รับจ้างขนส่ง โจทก์จะให้บุคคลดังกล่าวเขียนใบสมัคร และโจทก์จะตรวจสอบประสบการณ์คุณสมบัติของผู้สมัคร แล้วจะให้ส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทดสอบการขับรถเพื่อออกใบอนุญาตให้ จากนั้นจึงจะทำสัญญาขนส่งน้ำมันตามเอกสารหมาย จ.3 การทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.4 เวลาปฏิบัติงานในแต่ละวันเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา เมื่อผู้รับจ้างขนส่งมาที่ส่วนคลังและขนส่งบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แล้ว จะจับฉลากเพื่อรับงานตามใบสั่งงานเอกสารหมาย จ.6 ที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกให้แก่โจทก์ โดยผู้รับจ้างขนส่งจะได้รับค่าขนส่งต่อเที่ยวไม่เท่ากัน แต่จะได้รับไม่ต่ำกว่าเที่ยวละ 250 บาท โจทก์ได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.4 มาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมา เอกสารหมาย จ.7 เพื่อใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่ง และเคยจัดทำประกาศบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด เรื่อง ระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่งเอกสารหมาย จ.11 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องเริ่มจากการเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับโจทก์ก่อน แล้วจึงจะทดสอบการขับรถ จากนั้นจึงทำสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งตามสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 แม้จะเรียกคู่สัญญาว่า “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” แต่ตามสัญญาข้อ 1.2 ระบุว่า “ผู้รับจ้างยินยอมจะปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้” และตามข้อ 3.4 ก็ระบุไว้ทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้แล้ว และที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมหลังจากการทำสัญญา และเมื่อโจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน เอกสารหมาย จ.4 ทั้งยังคัดลอกข้อความบางส่วนมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาเอกสารหมาย จ.7 จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำระเบียบปฏิบัติของส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่งในลักษณะเดียวกันเป็นระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน เอกสารหมาย จ.4 นอกจากจะระบุถึงระเบียบปฏิบัติภายในพื้นที่ศูนย์จ่ายน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันโดยทั่วไปอล้ว ยังระบุถึงความประพฤติส่วนตัวที่ต้องห้ามแสดงกิริยา มารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายหรือพยายามทำร้ายผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาเอกสารหมาย จ.7 ระบุบทลงโทษไว้ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัดและยังปรากฏว่าโจทก์เคยมีประกาศบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด เรื่อง ระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่งเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บริการจัดส่งตั้งแต่งดจ่ายงาน 3 วัน จนถึงเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้น การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ยังคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป ส่วนที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ผู้รับจ้างขนส่งจะขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้ง หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานวันใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบ ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 5.3 วรรคสอง ซึ่งระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องประกันผลงานจำนวนเที่ยววิ่งขนส่งน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว หากผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจำนวนเที่ยวที่ระบุไว้โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาอีกทั้งโจทก์ยังได้จัดทำสมุดแจ้งการหยุดงานเอกสารหมาย จ.8 เพื่อบันทึกการลาหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่งซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของชื่อผู้หยุดงาน วันที่หยุดงาน ทะเบียนรถ รายละเอียดของการลาหยุดงาน ดังนั้น แม้ว่าผู้รับจ้างขนส่งจะหยุดงานวันใดก็ได้ แต่จะต้องขนส่งน้ำมันได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 45 เที่ยว และในการทำงานแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา จะทำงานในเวลาอื่นมิได้ การจะขนส่งน้ำมันให้ได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 45 เที่ยว จึงต้องมาทำงานภายในเวลาโดยมีอัตราการทำงานที่สม่ำเสมอ และยังต้องระบุเหตุผลในการลาหยุดอันสมควรด้วยเพื่อมิให้ขัดต่อสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 5.3 วรรคสอง ดังกล่าว การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงถูกบังคับโดยจำนวนเที่ยวที่ขนส่งโดยสัมพันธ์กับเวลาปฏิบัติงาน มิใช่การปฏิบัติงานโดยอิสระแต่อย่างใด ในส่วนของค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งก็เป็นลักษณะของค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 ดังนั้น การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาในการทำงานของโจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้รับจ้างขนส่งไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545 เรื่องบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากไม่อยู่ในขอบอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนั้น เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่ง การวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ครั้งที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545 เรื่องบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จึงชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (1) และมาตรา 23 แล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนแต่อย่างใด อุทธรณ์จำเลยทั้งเก้าฟังขึ้น”
 
          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 4864/2559

คำพิพากษาฎีกาที่ 4864/2559

ลูกจ้างกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานสถานหนักในรอบปีการทำงานที่จะจ่ายเงินโบนัส นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้าง...

 คำพิพากษาฎีกาที่ 1794-1795/2559

คำพิพากษาฎีกาที่ 1794-1795/2559

การกระทำอย่างไรที่ถือว่ากรรมการลูกจ้างประพฤติไม่เหมาะสมกับการเป็นลูกจ้างที่ดีและท้าทายต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยว....

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น

AmazingCounters.com

Copyright © tanaypod.com  2024