ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างนายกฤษณพงษ์กรรมการลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางส่งสำเนาคำร้องให้นายกฤษณพงษ์กรรมการลูกจ้างแล้ว กรรมการลูกจ้างไม่ยื่นคำคัดค้าน แต่มาศาลในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางจึงทำการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายกฤษณพงษ์กรรมการลูกจ้างได้
กรรมการลูกจ้างอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคู่มือพนักงาน โดยมีประกาศกำหนดให้พนักงานที่ขับรถยนต์ของบริษัททุกประเภทจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้องตลอดเวลาที่ขับรถ หากพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎ จะถือว่าพนักงานผู้นั้นผิดกฎระเบียบของบริษัท และอาจมีผลถึงการเลิกจ้างงานได้ นายกฤษณพงษ์ เป็นกรรมการลูกจ้างของผู้ร้อง เข้าทำงานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 ได้ค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 นายกฤษณพงษ์และนายสวิงได้รับมอบหมายให้ผลัดกันขับรถของผู้ร้องบรรทุกสินค้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลวไปส่งให้ลูกค้าที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากส่งสินค้าเสร็จแล้ว ขากลับวันที่ 30 สิงหาคม 2547 ขณะที่นายกฤษณพงษ์เป็นคนขับ นายสวิงไปนอนพักผ่อนที่เบาะหลังคนขับ เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายกฤษณพงษ์ขับรถตกจากถนนลงข้างทางไปพลิกตะแคงซ้าย นายสวิงรู้สึกตัวเมื่อเลื่อนตกจากที่นอนมาที่เบาะซ้ายด้านหน้า แล้วถูกนายกฤษณพงษ์หล่นจากที่นั่งคนขับคร่อมทับนายสวิง รถยนต์ผู้ร้องได้รับความเสียหายประมาณ 1,000,000 บาท นายสวิงได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกหัวไหล่ขวาแตกหัก ต้องดามเหล็กและได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนขวา ส่วนนายกฤษณพงษ์ได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก ขณะเกิดเหตุนายกฤษณพงษ์ขับรถยนต์บรรทุกโดยไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องและเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่กำหนดและบัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยแก่ตัวผู้ขับรถยนต์เอง และสามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย การละเลยฝ่าฝืนจึงเป็นความผิดร้ายแรง ทั้งผลที่เกิดจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นายกฤษณพงษ์จึงหล่นจากที่นั่งคนขับลงมาทับนายสวิง เป็นเหตุให้นายสวิงได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกหัวไหล่ขวาหักผลที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการที่นายกฤษณพงษ์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง เป็นเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) กรณีจึงมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่ศาลควรอนุญาตให้เลิกจ้างนายกฤษณพงษ์กรรมการลูกจ้างได้ตามคำร้องขอของนายจ้าง ที่นายกฤษณพงษ์กรรมการลูกจ้างอุทธรณ์ว่า แม้ผลของการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจะเป็นผลให้นายสวิงได้รับบาดเจ็บก็ตาม แต่เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุบัติเหตุมิได้เกิดจากการจงใจกระทำผิดแต่อย่างใด การไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็เป็นเพียงการกระทำไม่สมควรเท่านั้น มิได้เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างได้นั้น เห็นว่า การที่กรรมการลูกจ้างไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องแล้ว ยังเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสวิงอันเป็นผลมาจากการที่กรรมการลูกจ้างไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ส่วนที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเพียงการวินิจฉัยให้เหตุผลเกินเลยไปเท่านั้น อุทธรณ์ของกรรมการลูกจ้างฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 4864/2559
ลูกจ้างกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานสถานหนักในรอบปีการทำงานที่จะจ่ายเงินโบนัส นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้าง...
คำพิพากษาฎีกาที่ 1794-1795/2559
การกระทำอย่างไรที่ถือว่ากรรมการลูกจ้างประพฤติไม่เหมาะสมกับการเป็นลูกจ้างที่ดีและท้าทายต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยว....