สวัสดีท่านสมาชิกและท่านผู้สนใจทั่วไป มีคำถามเกี่ยวกับ เรื่อง "เงินค้ำประกันการทำงาน" ซึ่งเคยมีผู้ตั้งกระทู้ถามทนายป๊อดทนายแรงงานให้ตอบคำถามนี้ คำถามนี้เป็นอีกคำถามหนึ่งที่มีผู้สนใจ ใครอยากรู้และอยากได้คำตอบที่กระจ่างชัด คำถามนี้ในเว็บทนายป๊อดดอทคอมบันทึกไว้มีมากถึง 14,389 คนดู แสดงว่ามีผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อสักเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาเป็นข่าวฮือฮาในหน้าหนังสือพิมพ์ทางสื่อต่างๆได้กระจายข่าวสารว่ารัฐบาลได้ประกาศแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย การค้ำประกัน จำนำ และจำนอง ซึ่งผลพวงจากการประกาศกฎหมายดังกล่าวผู้ที่ได้รับอานิสงส์ ก็คือ ประชาชนบุคคลทั่วไปเหมือนเช่นเราๆ และท่านๆ ทั้งหลายนั่นเอง การแก้ไขถึงกับทำให้กลุ่มสถาบันการเงินสั่นคลอนไปเลยทีเดียว
เอาละครับคราวนี้เราหันมาดูกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง การค้ำประกันไว้หรือไม่อย่างไร มีแน่นอนครับ กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ล้ำหน้าไปก่อนประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์เสียอีก เพราะได้มีการยกร่างแก้ไขกฎหมายแรงงาน ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2541 เสียอีก และต่อมาได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่เมื่อประมาณปี 2541 นั่นคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (หลังจากนั้นมีการแก้ไขอีกใน ปี 2551) ในกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้บัญญัติ รายละเอียดของเงินประกันการทำงานไว้อย่างชัดแจ้งว่า หน้าที่ หรือ ตำแหน่งใดบ้างที่นายจ้างสามารถเรียก และรับเงินประกัน หรือจัดหาบุคคลค้ำประกันการทำงานได้ อัตราและจำนวนเงินค้ำประกันในการค้ำประกันในการทำงานต้องเป็นจำนวนเท่า นายจ้างมีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาเงินค้ำประกันไว้ที่ไหนอย่างไร การค้ำกันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และนายจ้างจะต้องคืนเงินค้ำประกันให้แก่ลูกจ้างนับแต่เมื่อใดรวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเก็บรักษาเงินค้ำประกันไว้นายจ้างจะต้องเก็บไว้ที่ใด และในกฎหมายฉบับดังกล่าวยังกำหนดบทลงโทษของนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายและหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นได้รับโทษทางอาญาถึงขั้นจำคุกไปด้วย คราวนี้เรามาดูสิว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการค้ำประกันการทำงานไว้มีเนื้อหาว่าอย่างไร เปิดตำรากฎหมายไปพร้อมๆกันครับ ดูที่ มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน ตลอดจนประเภทหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”วรรคสองบัญญัติไว้อีกว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี”
อ่านตัวบทกฎหมายข้างต้นเป็นอย่างไรบ้างครับได้ความกระจ่างแล้วใช่ไหมครับ ว่าหลักเกณฑ์วิธีการเรียกเงินค้ำประกันกานทำงานหรือเงินชดใช้ความเสียหาย กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ดังนั้น ผู้ที่เป็นลูกจ้าง และเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานจึงไม่ต้องกังวลใดๆ นะครับ เมื่อออกจากงานได้รับเงินค้ำประกันคืนแน่นอน เผลอๆ มีดอกเบี้ยให้อีกด้วย ทนายขอจบบทความไว้เท่านี้ก่อนครับ ขอให้ทุกท่านติดตามบทความว่าด้วยเรื่องเงินค้ำประกันการทำงานต่อในตอนที่ 2 นะครับ ยังมีเนื้อหามากครับ
************************************************************************************************************