เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่ 2

          ตามมารยาทของคนไทยก่อนอื่นต้องกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ ท่านสมาชิกและท่านผู้สนใจเข้าชมเว็บทั่วไป ” ครั้งที่แล้วทนายป๊อดทนายแรงงานได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง เงินค้ำประกันการทำงานจบไว้เป็นตอนแรกครับเนื่องจากมีระยะเวลาในการเขียนน้อยไปสักนิด จึงจบเป็นบทความตอนแรกไว้แบบยังไม่สมบูรณ์ครับ   ดังนั้นในคราวนี้ ทนายป๊อดทนายแรงงาน จะมาขยายความเกี่ยวกับเรื่องการค้ำประกันการทำงานต่อจากคราวที่แล้ว  ทุกๆ ท่าน ได้อ่าน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ  มาตรา 10 ไปแล้วพอจะมองเห็นภาพของการเรียกรับเงินค้ำประกันการทำงานแล้วนะครับว่ากฎหมายได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างไว้อย่างไร ในครั้งนี้ทนายป๊อดทนายแรงงานจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเงื่อนไขข้อกำหนดวิธีการในการเก็บรักษาเงินของนายจ้างและจำนวนอัตราเงินค้ำประกันการทำงานตลอดจนการกำหนดหน้าที่และตำแหน่งงานที่นายจ้างสามารถที่จะเรียกรับเงินประกันการทำงานหรือการประกันการทำงานด้วยบุคคล ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่าในบทบัญญัติมาตรา 10 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ  ได้กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานประกาศหลักเกณฑ์ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ทุกๆท่านคงจำกันได้นะครับ คราวนี้เราตามไปพร้อมๆกันครับว่ารัฐมนตรีได้มีประกาศและกำหนดเรื่องเงื่อนไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่าอย่างไรครับ มาดูพร้อมๆๆกันเลย  คลิกที่นี้ ครับ

http://www.labour.go.th/th/webimage/images/law/doc/law10072551-1.pdf

 

หลังจากที่อ่านประกาศดังกล่าวแล้วพอจะสรปุได้ดังนี้ครับ 

       1.  ตำแหน่งหน้าที่งานที่สามารถเรียกรับเงินประกันหรือบุคคลค้ำประกันการทำงานได้คือ 

            (๑) งานสมุห์บัญชี 

            (๒) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน 

            (๓) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคํา ทองคําขาวและไขมุก 

            (๔) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง                     

            (๕) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน  

            (๖) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ 

            (๗) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจํานอง รับจํานํา รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัด                      ส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

 

       2. หลักประกันการทํางานหรือหลักประกันความเสียหายในการทํางานมี 3 ประเภท ได้แก่                        

             (๑) เงินสด มูลค่าจำนวน 60 เท่าตามข้อ 3.

             (๒) ทรัพย์สิน  เช่น สมุดเงินฝาก ,หนังสือค้ำประกันธนาคาร มูลค่าจำนวน 60 เท่าตามข้อ    3. ห้ามแก้ไขเป็นชื่อของนายจ้าง

             (๓) การค้ำประกันด้วยบุคคล มูลค่าจำนวน 60 เท่าตามข้อ 3.  ต้องทำสัญญาค้ำประกัน 3 ฉบับ  

                   ดังนี้ 1. ฉบับนายจ้างเก็บรักษา 2. ฉบับลูกจ้างเก็บรักษา 3. ฉบับผู้ค้ำประกันเก็บรักษา 

                       + ถ้านายจ้างเรียกรับหลักประกันทั้งสามประเภทรวมกัน มูลค่าหลักประกันทุกประเภทไม่เกินจำนวน 60 เท่าตามข้อ 3.

 

       3. จํานวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไมเกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

           ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างได้เงินค่าจ้างคำนวณแล้วได้วันละ 300 บาท จำนวนเงินค้ำประกันคือ  300 X 60 = 18,000 บาท 

                      + ถ้าเงินประกันลดจำนวนลงนายจ้างสามารถเรียกเพิ่มให้ครบจำนวนเงินค้ำประกัน

 

       4.  สถานที่เก็บรักษาเงินประกันการทำงาน 

                       + ให้นายจ้างนําเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคาร                                                       พาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน 

                       + ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการดําเนินการตามในการเก็บรักษาเงินประกันนายจ้างเป็นผู้ออก

 

            อ่านแล้วบางท่านอาจสับสนได้ ทนายป๊อดทนายแรงงาน จึงได้จัดทำเป็นสรุปแยกหัวข้อให้ดู อ่านง่ายขึ้นครับ ดังนั้น นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกัน คงจะมีความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายแล้วนะครับ ว่าต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ก่อนจะจบขอฝากไว้ว่าให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้นะครับ จะได้ไม่มีปัญหาพิพาทกันในเรื่องนี้ครับ .....สวัสดี...ทนายป๊อดทนายแรงงาน      

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน

พฤติการณ์อย่างไรถือเป็นจงใจไม่จ่ายเงินชดเชย

ถ้าจะขยายอายุเกษียณของพนักงานควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าจะขยายอายุเกษียณของพนักงานควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่3

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่3

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่ 2

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่ 2

ความเห็นของผู้ชม