ถ้าจะขยายอายุเกษียณของพนักงานควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

        เมื่อวันที่ 20  มิถุนายน 2558  ที่ผ่านมา ทนายได้อ่านบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจได้ลงบทความ “ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าให้มีการขยายอายุเกษียณของผู้บริหารระดับสูงในหลายประเทศสาเหตุจากผู้บริหารระดับสูงผลเกษียณไปแล้วองค์กรยังไม่ได้สืบทอดตำแหน่งที่ความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับผู้บริหารเกษียณอายุไปแล้วจึงจำเป็นต้องว่าจ้างให้ผู้บริหารระดับสูงในวัยเกษียณได้ขยายอายุเกษียณออกไป 1 ปี 2 ปี 3 ปีแล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละองค์กร”

       ซึ่งเรื่องการเกษียณอายุของ ผู้บริหาร พนักงานในระดับต่างๆ ในแต่ละองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องเก่ามากแล้ว ในประเทศไทยมีหลายองค์กรก็ใช้วิธีการขยายเวลาเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูง พนักงานในตำแหน่งที่องค์กรเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร พนักงานในการทำงานสอนงานให้กับพนักงานในระดับที่เข้ามาสืบทอดตำแหน่ง 
      คราวนี้ก็หันมาดูในแง่มุมของกฎหมายแรงงานบ้างนะครับว่า ถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะให้มีการต่อการเกษียณอายุ หรือ ขยายการเกษียณอายุพนักงานในองค์กรนั้นควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายของประเทศไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้นั่นก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  กฎหมายฉบับดังกล่าว นี้ไม่ได้บัญญัติเรื่องการขยายเวลาเกษียณอายุไว้อย่างชัดเจนว่าการเกษียณอายุ นายจ้างจะต้องปฏิบัติอย่างไร และควรจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถศึกษาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งในได้วางบรรทัดฐานไว้เกี่ยวกับเรื่องการขยายอายุมีการต่ออายุไว้เป็นแนวทางให้สามารถปฏิบัติได้ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ “ คำพิพากษาฎีกาที่ 1396/2551     ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หมวดที่ 11 การเลิกจ้าง การพ้นอำนาจสภาพการเป็นพนักงาน และการจ่ายค่าชดเชย ข้อ 2 ระบุให้การเลิกจ้างและการพ้นสภาพการเป็นพนักงานมีขึ้นในกรณีตาย ลาออก เกษียณ และการเลิกจ้าง ข้อ 2.3.1 ระบุว่า “บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานทั้งชายและหญิงที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ นับจากวันเดือนปีเกิดของพนักงานเกษียณอายุ โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้พนักงานที่เกษียณอายุทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเกษียณ” อันเป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานให้ทำกระทั่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก็จะเป็นการพ้นสภาพโดยการเกษียณอายุตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งการพ้นสภาพการเป็นพนักงานเพราะเหตุเกษียณอายุนี้มิได้เป็นการพ้นสภาพที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 3 ค่าชดเชย ดังนั้นหากพนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานเพราะเหตุเกษียณอายุก็เป็นการเลิกจ้างที่ได้รับค่าชดเชย ส่วนที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระบุต่อไปว่าบริษัทฯ จะแจ้งให้พนักงานที่เกษียณอายุทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเกษียณนั้น เป็นการกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างปฏิบัติเพื่อให้พนักงานที่เกษียณอายุได้ทราบล่วงหน้าเท่านั้น  มิได้เป็นเงื่อนไขให้นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อพนักงานว่าจะให้พนักงานคนใดเกษียณอายุ หรือไม่ ดังนั้นหากพนักงานมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แล้วจึงต้องเกษียณอายุ สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ” 
      สรุป คือการเกษียณอายุ ความหมายคือการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ดังนั้นในการต่ออายุให้พนักงานที่เกษียณอายุออกไป นายจ้างก็ควรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน นั้นคือ การจ่ายเงินค่าชดเชยให้พนักงานที่เกษียณอายุเสียก่อนเท่ากับว่าเป็นการตัดตอนการทำงานของลูกจ้างลงไป  แต่เมื่อนายจ้างประสงค์ที่จะขยายการเกษียณอายุออกไปอีก  นายจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างฉบับใหม่ ให้เริ่มนับอายุการทำงานใหม่และจะต้องปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น แต่ก็ยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ และเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในประเด็นปัญหาดังกล่าว  ซึ่งถือปฏิบัติว่าเมื่อมีการขยายอายุออกไปอีกเป็นจำนวน 1 ปี 2 ปี 3 ปี แล้วแต่นายจ้างไม่ต้องตัดตอนจ่ายเงินชดเชย โดยจะจ่ายเงินชดเชยให้ในคราวเดียวกันกับเมื่อนายจ้างบอกยุติการต่ออายุเกษียณ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย ดังนั้น นายจ้างก่อนที่จะมีการขยายอายุการเกษียณของพนักงานควรจะต้องศึกษากฎหมายให้ละเอียด หากไม่ศึกษาโอกาสที่จะตกเป็นจำเลยในคดีแรงงาน ถูกลูกจ้างที่เกษียณอายุฟ้องเรียกเงินค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันสิ้นสุดสัญญาจ้างเมื่ออายุครบเกษียณเรื่อยมาจนกระทั่งนายจ้างจะจ่ายเงินชดเชยให้ครบถ้วน และเรียกร้องเอาค่าชดเชยหลังจากสิ้นสุดสัญญาจ้างฉบับต่อขยายอายุเกษียณ ฉบับใหม่จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาต่อขยายการเกษียณอายุ  นายจ้างอย่าลืมว่าดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดตามกฎหมายคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าทนายป๊อดทนายแรงงานไม่บอกนะคร๊าบ.... 
**************************************************************************************************
 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน

พฤติการณ์อย่างไรถือเป็นจงใจไม่จ่ายเงินชดเชย

ถ้าจะขยายอายุเกษียณของพนักงานควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าจะขยายอายุเกษียณของพนักงานควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่3

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่3

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่ 2

เงินค้ำประกันการทำงาน ตอนที่ 2

ความเห็นของผู้ชม